GHG Inventory Specialist

โฮลซี่

“ผลการประเมินแต่ละครั้งจะสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่เราทุ่มเทให้กับงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

อาชีพนี้เริ่มต้นจากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและภาคการเกษตร เมื่อมองย้อนกลับไปวันแรกที่เริ่มจับงานนี้เรียกได้ว่ามีความรู้เป็นศูนย์เลยก็ว่าได้ แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จึงทำให้เริ่มจากการอ่านคู่มือหลายร้อยหน้าเพื่อให้รู้ว่ามันคืออะไร มีขั้นตอนการทำงานยังไง จากน้ันก็เริ่มเก็บรวมข้อมูลตามที่คู่มือบอกไว้ และความสนุกของการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (GHG Inventory) ก็เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนนี้

หลักการสำคัญของการเป็น GHG Inventory Specialist คือต้องแม่นในหลักการประเมินตามคู่มือที่ UNFCCC ประกาศใช้ และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือจะต้องรู้ด้วยว่าข้อมูลและตัวแปรนี้ต้องเก็บรวมรวมจากแหล่งไหนให้ประเมินออกมาแล้วค่านั้นใช้เป็นค่าของประเทศได้ หลังจากทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกเสร็จแล้วผลที่ได้จะถูกเสนอเข้าไปในคณะทำงานจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศซึ่งในฐานนะ GHG Inventory Specialist ก็จะต้องสามารถอธิบายขั้นตอนการจัดทำ สมมติฐานที่ใช้ และให้เหตุผลเพิ่มเติมกับคณะทำงานได้ในกรณีที่เกิดคำถาม

งานของ GHG Inventory Specialist คืออะไร?

ผลลัพธ์สำคัญของงานนี้ เป็นผลการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากแหล่งต่าง ๆ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน การใช้พลังงานในการขนส่ง การใช้สารเคมีในอุตสาหกรรม การทำปศุสัตว์ และการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ซึ่งในแต่ละแหล่งจะมีตัวแปรและวิธีการประเมินที่แตกต่างกัน

วัน ๆ ทำอะไรบ้าง?

·      ก่อนเริ่มงานก็เช็ค Email อัปเดทข้อมูลข่าวสารด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

·      ประชุมทีมเพื่ออัปเดทงาน และรายการที่ต้องทำให้เสร็จในแต่ละวัน

·      เตรียมข้อมูลที่จะต้องเอามาใช้ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมที่รับผิดชอบ

·      นำข้อมูลกรอกลงเครื่องมือคำนวณและตรวจทานผลการประเมิน

·      ทำรายการสิ่งที่ต้องอัปเดทหรือแก้ไขสำหรับวันถัดไป

ทักษะอะไรที่คิดว่าสำคัญ?

·      ทักษะการคิดเชิงระบบ (CriticalThinking)

·      ทักษะการบริหารจัดการ (Management)

·      ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic)

·      ทักษะการสื่อสาร (Communication)

จะต้องเตรียมตัวยังไงเพื่อเป็น GHG Inventory Specialist?

·       ทำความเข้าใจคู่มือสำหรับการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกในระดับต่าง ๆ เช่น การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศ (IPCC Guidelines for National Greenhouse Gas Inventories) และการจักทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง (The Global Protocol for Community-scale Greenhouse Gas Emission Inventories: GPC Guideline)

·       รีวิวรายงานการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกฉบับก่อนหน้า เพื่อให้รู้แนวทางการจัดทำ แหล่งข้อมูล และสมมติฐานที่ใช้ประเมิน

·       ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของโลกอยู่เสมอ (Global agenda)

·       หากต้องการเพิ่มความน่าเชื่อถือของตัวเองในสายงานนี้ สามารถเข้ารับการทดสอบเพื่อได้รับใบรับรองความชำนาญในสายอาชีพนี้ได้ ซึ่งเท่าที่รู้ตอนนี้จะมีเปิดสอบเฉพาะของการจักทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองเท่านั้น สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ City Climate Planner Certificate Program

มองภาพของอาชีพที่ทำอยู่ในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร?

ส่วนตัวมองว่าคนที่ทำอาชีพด้านนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะผันตัวเองกลายมาเป็นที่ปรึกษาในการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เพราะตอนนี้มีระบบและโปรแกรมที่หน่วยงานที่รับผิดชอบพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำรายงานผล ทำให้ใช้เวลาน้อยว่าในการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกและได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่า