“สนุกในการใช้ชีวิต สติในการแก้ปัญหา สมาธิในการทำงาน สื่อสารกับคนรอบข้าง สำเร็จทุกงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ขอบคุณค่า
ด้วย Background ที่จบมาด้านสิ่งแวดล้อมชอบงานที่มีเนื้องานไม่ซ้ำเดิม ชอบงานที่ได้เรียนรู้เนื้อหาอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ ประกอบกับนิสัยส่วนตัวชอบสไตล์การทำงานที่ยืดหยุ่น จากความชอบตรงนี้เลยเป็นสาเหตุที่ตัดสินใจเลือกงานที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเพราะการเป็นที่ปรึกษานอกจากจะได้เพิ่มทักษะด้าน Hard skill แล้วยังได้ใช้ทักษะ Soft skill ในเวลาเดียวกัน
งานของที่ปรึกษาคือการให้คำปรึกษาและหาทางออกให้กับปัญหาที่ลูกค้าต้องการแก้ไข ซึ่งคำว่าการให้คำปรึกษานี้มีได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า ส่วนใหญ่งานของที่ปรึกษาที่ต้องทำให้กับลูกค้ามักจะมาในรูปแบบของโครงการ บางโครงการกินเวลาหลักเดือนและบางโครงการก็ใช้เวลาหลักปีกว่าจะพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์ พอขึ้นชื่อว่าโครงการแล้วงานของที่ปรึกษาก็จะครอบคลุมตั้งแต่การประชุมกับลูกค้าเพื่อรับ Requirement ไปจนถึงการนำเสนองาน โดยกิจกรรมหลัก ๆ สามารสรุปได้ตามหัวข้อด้านล่าง
การรับ Requirement ในที่นี้จะหมายถึงการรับโจทย์ในการทำงานจากลูกค้านั่นเอง ส่วนมากผ่านรูปแบบการประชุมกับลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการ เพื่อรับ Requirement และแนวทางการพัฒนาโครงการ ส่วนตัวมองว่าในฐานะที่ปรึกษานอกจากจะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้วยังจำเป็นที่จะต้องมีทักษะการจับใจความสำคัญและทักษะการสื่อสารร่วมด้วยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ในขณะเดียวกันที่ก็ต้องเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าด้วยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการอีกด้วย
ส่วนใหญ่ Requirement จะเป็นปัญหาที่เกิดจากการดำเนินงานของลูกค้า เช่น ไม่สามารถประเมินความคุ้มค่าของโครงการด้านสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นที่ปรึกษาก็จะรับหน้าที่ต่อในการหาคำตอบว่าแล้วเพราะเหตุใดปัญหานี้จึงต้องถูกแก้ไข เมื่อแก้ไขแล้วผลลัพธ์และผลกระทบที่ออกมาจะเป็นอย่างไร
เป็นการวิเคราะห์และวางแผนโครงการในภาพรวม หลังจากรับ Requirement จากลูกค้ามาแล้วที่ปรึกษาควรที่จะกลับมานั่งทำความเข้าใจเนื้อหาที่ได้รับมาทั้งหมดแล้วสรุปว่าที่จริงแล้วผลลัพธ์ (Output) และผลลัพธ์ที่คาดหวัง (Outcome) ของลูกค้าต้องการอะไร ใครคือกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการบ้างแล้วคนกลุ่มนั้นมีบทบาทหน้าที่ต่างกันยังไง เพื่อให้เรามองภาพรวมของโครงการได้ชัดเจนมากขึ้น หลังจากวางแผนโครงการในภาพรวมแล้วอาจจะนำเอาแผนงานที่วางแผนไว้กลับไปให้ลูกค้าดูอีกครั้งเพื่อ Confirm ว่านี่คือผลลัพธ์ตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่ ขั้นตอนการทำโครงการมีส่วนไหนที่ลูกค้าอยากปรับเปลี่ยนหรือไม่ ระยะเวลาการทำโครงการเหมาะสมหรือไม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นภาพเดียวกันก่อนเริ่มลงมือทำโครงการ
หลังจากได้แผนการทำโครงการในภาพรวมมาแล้วจะต้องเริ่มทำการวางแผนโครงการในเชิงเทคนิค ว่าต้องมีองค์ประกอบหรือต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านใดบ้างเพื่อให้สามารถวางทีมที่ปรึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญให้มารับผิดชอบงานเฉพาะด้านนั้นได้อย่างเหมาะสม ในส่วนนี้ยังรวมถึงการวาง Timeline ของโครงการและการวางหน้าที่ความรับผิดชอบของคนในทีม สำหรับการเลือกว่างานส่วนไหนเหมาะกับใครจะเลือกมอบหมายงานตามความเชี่ยวชาญของแต่ละคนเป็นหลักก่อน แต่หากพบว่า Workload สมาชิกในทีมคนนั้นเกินกว่าที่เค้าจะรับผิดชอบไหวแล้วถึงจะมอบหมายให้คนที่มีความเชี่ยวชาญในทางเดียวกันคนอื่นแทน เพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพสูงสุดและคนในทีมไม่เกิดภาวะ Burnout จากการทำงานมากเกินไป
การให้น้ำหนักและระยะเวลาของการทำงานแต่ละขั้นตอนขึ้นอยู่กับลักษณะของโครงการแต่ส่วนตัวคิดว่าขั้นตอนการวางแผนงานเป็นขั้นตอนที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุดตั้งแต่เริ่มโครงการ
การศึกษาข้อมูลและการหมั่นอัปเดทเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ทำอยู่เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นที่ปรึกษา เพราะต้องให้คำปรึกษาที่ถูกต้องทันต่อสมัยไม่ชี้นำให้ลูกค้าคล้อยตามเพื่อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป การศึกษาข้อมูลเชิงเทคนิคของโครงการ เช่น การออกแบบเครื่องมือทางการเงินสำหรับโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกอากาศ การประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินงานโดยอ้างอิงจากทั้งต่างประเทศและในประเทศที่เคยมีการทำการศึกษาไว้แล้ว
ส่วนองค์ความรู้ด้านไหนที่ลูกค้าต้องการให้ที่ปรึกษาเสนอแนะเพิ่มเติมแต่เป็นหัวข้อหรือมุมมองที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ ก็จะหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้คำปรึกษาเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับมากที่สุด
เป็นการเสนอแนวทางแก้ไขตามโจทย์ของโครงการ นอกจากนี้ยังเป็นการให้คำปรึกษาระหว่างที่ลูกค้าทำตาม Solution ที่เสนอไป โดยต้องเสนออะไรที่เกิดประโยชน์และมี Impact มากที่สุด
เริ่มต้นวันด้วยการเช็คแผนการทำงานว่าเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่ เพื่อที่จะปรับให้สุดท้ายแล้วยังสามารถส่งมอบงานได้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ในแผนงาน จากนั้นเตรียมเช็คลิสว่าวันนี้จะต้องทำอะไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่ทำควบคู่กันไปกับตารางงานในแต่ละวันคือศึกษาข้อมูลเชิงเทคนิคที่จำเป็นต้องเอามาใช้ประกอบการทำโครงการ หากช่วงไหนต้องนำเสนอความก้าวหน้าโครงการหรือส่งรายงานก็จะมีการทำรายงานและไฟล์นำเสนอด้วย ส่วนงานจิปาถะทั่วไปที่ไม่ได้เป็น Routine ก็จะได้แก่งานประสานงาน การเข้าประชุม
ส่วนตัวคิดว่างานที่ปรึกษาเป็นงานที่ดึงเอาความถนัดและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านออกมาใช้ ดังนั้นพื้นฐานแล้วเราจะต้องมีความสนใจในหัวข้อนั้น ๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้วเพราะการที่เราสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษก็จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เราสนใจไปเรื่อย ๆ ในมุมมองต่าง ๆ แตกแขนงขยายวงกว้างออกไป ควรมีแนวคิดแบบเปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอเพราะในหนึ่งโครงการไม่ได้มีแค่เรื่องที่เราถนัดแค่เรื่องเดียวให้ทำเท่านั้น เช่น โครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทั้งด้าน Climate change และด้านการเงิน
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าที่เล่าไปก่อนหน้านี้ก็คือ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว เพราะจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้อาชีพที่ปรึกษาหยุดชะงักลงในสักวันเพราะยึดถือแต่องค์ความรู้เดิมที่เชี่ยวชาญในขณะที่โลกพัฒนาไปในทุกวัน
ถ้าไม่ได้โฟกัสที่งานด้าน Consultant แต่โฟกัสเฉพาะที่คำว่า Environment หรือ Climate คิดว่าสายงานด้านนี้กำลังมีหลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างมากทั้งผู้จ้างงานและผู้หางาน เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มหันมาให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เริ่มมีองค์กรทั้งเอกชนและภาครัฐหันมาสนใจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมามากมายทั้งในรูปแบบของเครื่องมือ โครงการภาคบังคับ ไปจนกระทั่งสื่อการสอนเพื่อให้เรื่องนี้สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น