“มีความสุขอยู่กับธรรมชาติ มีความสุขกับการได้เห็นต้นไม้โต ได้เห็นผลผลิตที่ได้ลงมือปลูกด้วยตัวเอง ได้ถ่ายทอดความรู้และเป็นต้นแบบ ให้เกษตรกรคนอื่น”
เมื่อก่อนไม่สนใจการทำเกษตรเลยแม้ว่าตากับยายของตนนั้นทำอาชีพเกษตรกรก็ตาม เพราะตอนนั้นมองว่าเป็นอาชีพที่เหนื่อยลำบาก ใช้ความอดทนสูง แต่พอได้มีโอกาสศึกษา ได้เข้าอบรมเกี่ยวกับศาสตร์ทางการเกษตรเช่น ไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics)การเพาะเห็ดเมื่อราว ๆ 5-6 ปีที่แล้วเลยทำให้สนใจเกี่ยวกับการทำเกษตรและมีมุมมองว่าถ้าเราสามารถผลิตอาหารด้วยตัวเองได้ในทุก ๆ วันเราก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้ออาหารเลย จึงเป็นจุดที่เริ่มต้นที่อยากศึกษาหาความรู้ด้านการทำเกษตรอยากลงมือทำจริงและอยากเป็นต้นแบบให้เกษตรกรหรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านการเกษตร โดยวิธีการทำเกษตรปลอดสารเคมีอย่างมีความสุขและสนุกที่ได้ทำ
เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) คือ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ร่วมกับวิถีธรรมชาติโดยให้ความสำคัญกับธรรมชาติและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืนเป็นหลักเกษตรกรรุ่นใหม่ก็จะมีแนวความคิดและเป้าหมายการทำการเกษตรที่แตกต่างกันออกไปโดยส่วนตัวแล้วเน้นไปที่การทำเกษตรแบบเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) ที่เป็นการออกแบบพื้นที่โดยคำนึงถึงความหลากหลายรักษาระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมทำให้เราได้ทั้งผลผลิตและพลังงานจากธรรมชาติที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตให้ยั่งยืนเรียกได้ว่าเป็นการทำการเกษตรทางเลือกหนึ่งที่ต้องใช้ความรู้จากหลาย ๆ ศาสตร์มาประกอบกันไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการเกษตร ด้านสถาปัตยกรรม ด้านวิศวกรรม และด้านสิ่งแวดล้อมมาออกแบบระบบการเกษตรให้เลียนแบบกับระบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
งานที่ทำค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่การจัดการภูมิทัศน์ (Landscape) ให้อิงกับธรรมชาติและสวยงามทำให้เราอยากเข้าไปทำทุกวันการวางแผนเพาะปลูก ให้เหมาะกับสภาพอากาศในแต่ละปีการจัดการดิน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปรับสภาพดินใช้หญ้าคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นไว้ในดินทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ในดินและผลิตธาตุอินทรีย์วัตถุเพื่อบำรุงดินได้การจัดการน้ำ สร้างพื้นที่ในการกักเก็บน้ำและส่งน้ำ การจัดการต้นไม้คือการปลูกต้นไม้ให้เหมาะกับเงื่อนไขที่ต้นไม้ต้องการทำให้ต้นไม้รับแสงอาทิตย์ได้ดี การจัดการด้านการใช้พลังงาน ส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุดในฟาร์มคือปั๊มสูบน้ำเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานและทำให้เกิดความยั่งยืนของการใช้พลังงานจึงมีความคิดจะติดตั้งระบบโซล่าเซลล์สูบน้ำ(SolarWater Pumping) แทนการใช้ปั๊มน้ำไฟฟ้าที่ใช้ไฟจากสายส่ง การทำน้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อบำรุงดินและป้องกันศัตรูพืชการเลี้ยงสัตว์ ที่ฟาร์มตอนนี้เน้นเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ผลพลอยได้จากการเลี้ยงเป็นมูลไก่ที่มีธาตุอาหารสูงมูลไก่ที่ได้เอาไปทำเป็นปุ๋ยหมัก(หมัก 14 วัน แล้วเอาไปโรยเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ในฟาร์ม) การออกแบบโรงเรือนเลือกสร้างโรงเรือนที่ไม่ร้อน อากาศถ่ายเท
นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานทำการตลาด (Marketing) และสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่างานอื่นๆ คือการเรียนเพื่อเอาความรู้มาต่อยอด
หัวใจของการทำเกษตรแบบ Permaculture หรือ PermanentAgriculture คือ การทำเกษตรเลียนแบบป่าธรรมชาติ เป็นการเกษตรแบบผสมผสานโดยอาศัยหลักการของป่าธรรมชาติสังเกตมั้ยว่าป่าสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้โดยที่เราไม่ต้องรถน้ำเลยแม้ว่าจะมีวัชพืชหรือหญ้าขึ้นต้นไม้ในป่าไม่ได้ขึ้นเป็นแถวแบบ 4x4 ตร.ม. หรือ 6x6 ตร.ม. แต่ก็สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง พอเราเอาแนวคิดนี้มาใช้ในพื้นที่ของเราต้นไม้เราก็จะแข็งแรงทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพนอกจากนี้ก็สามารถใช้ประโยชน์จากตันไม้ที่เราปลูกในด้านต่าง ๆ ได้อีก เช่นนำไม้มาทำเป็นที่อยู่อาศัย ใช้เป็นอาหาร ให้ความร่มรื่นและนำมาใช้แปรรูปเป็นถ่านหรือฟืนได้
หัวใจสำคัญของการจัดการภูมิทัศน์ คือ การออกแบบพื้นที่การใช้งานให้เหมาะสมมีพื้นที่กักเก็บน้ำให้เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง ออกแบบให้มีพื้นที่การเกษตรและจัดวางตำแหน่งปลูกต้นไม้ที่เหมาะสมเช่น ออกแบบให้ตำแหน่งปลูกต้นไม้ให้ได้รับแสงแดดอย่างพอเหมาะหลักการออกแบบพื้นฐานจะดูจากความสูงของต้นไม้และทิศทางของแสงแดด (ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก)โดยปลูกต้นไม้สูงอยู่ทางทิศเหนือ ทิศทางลมก็เป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบภูมิทัศน์ประเทศไทยมีลม 2 แบบ คือลมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้หลักการของการปลูกต้นไม้ให้เหมาะกับทิศทางลมคือการปลูกต้นไม้สูง เช่น ไม้สนไว้บังลมที่มาจากทั้งสองทิศเพื่อไม่ลมเข้ามาสร้างความเสียหายในพื้นที่การเกษตร
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความสวยงามเข้ามาเกี่ยวด้วยจากเหตุผลที่ต้องการให้สวนสวยงามทำให้รู้สึกว่าอยากเข้ามาทำสวนทุกวันจึงออกแบบการวางตำแหน่งต้นไม้และดอกไม้ให้สวยงาม เช่นการปลูกกัลปพฤกษ์คู่ไปกับไม้ยืนต้นอื่น ๆ และดอกไม้กินได้ ดอกไม้ยังช่วยล่อแมลงทำให้ช่วยลดศัตรูพืชได้อีกด้วย
การจัดการการใช้พลังงาน - มีแนวคิดจะติดตั้งโซล่าร์สูบน้ำ
การจัดการการปลูก – เลือกปลูกเฉพาะไม้ผลและไม้ยืนต้นเหมือนเป็นการลงทุนในระยะยาวและทำให้ปริมาณงานที่ต้องทำในแต่ละวันน้อยลงมีเวลาว่างมากขึ้นโดยจะปลูกแบบผสมผสานเพื่อให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปีปลูกกล้วยเป็นพืชพี่เลี้ยงให้กับต้นกล้าเพราะกล้วยช่วยรักษาความชื้นไว้ในดินและบังแสงแดดให้กับต้นกล้าด้วยเมื่อต้นกล้าโตก็จะตัดต้นกล้วยให้เหลือแต่ตอแล้วเอากากน้ำตาลราดลงไปบนตอกล้วยเพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยปลูกดอกไม้กินได้เพื่อความสวยงามและล่อแมลง การฉีดพ่นป้องกันศัตรูพืชโดยใช้เชื้อ BacillusThuringiensis (B.T.) กับเชื้อ Beauveria + Metarhizium ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช ป้องกันเชื้อราโดยใช้เชื้อ TrichodermaHazianum เพื่อป้องกันเชื้อราที่จะทำให้รากเน่าและโรคต่าง ๆ
การจัดการน้ำ – ทำพื้นที่กักเก็บน้ำโดยคำนึงถึงลักษณะดิน โดยลักษณะดินใช้วิธี MasonJar Test ซึ่งเป็นวิธีคร่าว ๆ ในการตรวจสอบลักษณะดิน เมื่อรู้ลักษณะดินแล้วก็จะสามารถออกแบบหนองน้ำให้มีความชันของตลิ่งที่เหมาะสมไม่เกิดการพังทลายเช่น ดินทราย ควรมีความชันของตลิ่งอยู่ที่ 1:2 และมีตะพักเพื่อช่วยลดการพังทลายของตลิ่งปริมาตรหนองคำนวณจากปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีกับความต้องการใช้น้ำในฟาร์มเพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดทั้งปี ใช้หลักการ Free Water Surface Wetland(FWS) กับ Vegetate Submerged Bed System (VSB) มาระยุกต์ใช้ ในคลองส่งน้ำก่อนเข้าหนองและในหนองน้ำ โดยการปลูกพืชน้ำ เช่น ธูปฤาษี กกพุทธรักษา ผักตบชวา และต้นหลิว ช่วยกรองน้ำและดักโลหะหนัก การทำคลองไส้ไก่และคลองส่งน้ำช่วยลำเลียงน้ำอย่างเป็นระบบและเกิดการกักเก็บน้ำไว้ใต้ดินได้อีกด้วย นอกจากนี้จะต้องมีการติดตามข่าวสารจากหน่วยงานว่าปีนี้มีปริมาณน้ำสำหรับการเกษตรมาก-น้อย เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่เพื่อให้สามารถวางแผนการสูบน้ำเข้ามากักเก็บไว้ในหนองล่วงหน้าได้
การจัดการดินและวัชพืช – เกษตรทั่วไปจะใช้ยาฆ่าหญ้าหรือเผา ซึ่งเป็นการทำให้ดินเสียทำให้สิ่งมีชีวิตในดินถูกทำลาย ทำลายระบบนิเวศ ที่ฟาร์มเลยใช้วิธีตัดหญ้าและเอาหญ้ามากลบหน้าดินเพื่อให้รักษาความชื้นและรักษาสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดินไว้ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะสร้างอินทรียวัตถุช่วยบำรุงดินต่อไป นำปุ๋ยหมักมูลไก่มาบำรุงดินตามที่ต้นไม้ต้องการในช่วงเวลาต่างๆ ใส่น้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วยและจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงทำให้ดินดีขึ้น
การจัดการโรงเรือน - ดูตำแหน่งที่ตั้งตามแสงแดด และเลือกแบบโรงเรือนที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกไม่ร้อน
การจัดการคน - จัดการคนให้ตรงกับลักษณะของงานเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมที่จำเป็นเสร็จได้ภายในหนึ่งวัน
การจัดการต้นทุน – ควบคุมต้นทุนการผลิตโดยจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีเกษตรแยกกันเพื่อให้เห็นภาพรวมของรายรับ-รายจ่าย และให้สามารถจัดการต้นทุนได้
· 6.30: รดน้ำต้นไม้ในฟาร์ม โดยจะรดน้ำต้นไม้ 2-3 วันต่ออาทิตย์ และทุก ๆ 14 วัน จะรดน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 ครั้ง
· 9.00: นำอาหารไก่ที่เตรียมไว้เย็นวันก่อนหน้าไปให้อาหารไก่ในโรงเรือน สำหรับโรงเรือนไก่จะรดจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงให้โรงเรือนไก่อาทิตย์ละครั้ง เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็น
· ประมาณ 14.00: เตรียมอาหารไก่สำหรับมื้อเย็น จากนั้นราว ๆ 16.00 ให้อาหารไก่ในโรงเรือน
· 17.00: กลับเข้าไปในสวนอีกครั้งเพื่อเข้าไปฉีดพ่นเชื้อ B.T. กับเชื้อ Beauveria + Metarhizium (อาทิตย์ละครั้ง) ดูความเรียบร้อยของฟาร์ม และปรับแต่งภูมิทัศน์ เติมปุ๋ยหมักมูลไก่ให้ต้นไม้เดือนละครั้ง
· การคิดเชิงระบบ (Critical Thinking)
· ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity & Innovation)
· การบริหารจัดการ (Management)
· การสื่อสาร (Communication)
· ความยืดหยุ่น (Flexible)
ศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Permaculture ว่าเป็นการเกษตรแบบไหน ตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ หลังจากนั้นจึงวางแผนการออกแบบโดยวางแผนให้สอดคล้องกับลักษณะของภูมิสังคม (วิถีชีวิตของคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น) ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการขุดหนองน้ำในพื้นที่จะต้องคำนึงถึงลักษณะการไหลของน้ำในพื้นที่เพราะหากไปรบกวนการไหลของน้ำของพื้นที่รอบข้างก็จะเป็นการรบกวนพื้นที่ข้างเคียง และการเกิดข้อพิพาทกับคนในชุมชน การเลือกตำแหน่งในการขุดหนองจะต้องเลือกจุดที่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้สามารถผันน้ำเข้ามาเก็บไว้ในหนองที่เราต้องการขุดได้อย่างสะดวก ในส่วนของคลองไส้ไก่ก็จะเลือกจุดเริ่มผันน้ำเข้าจากตำแหน่งที่สูงแล้วขุดไปยังตำแหน่งที่ต่ำ เพื่อให้มีการไหลจากที่สูงไปที่ต่ำอย่างเป็นธรรมชาติและศึกษาทิศทางลมและทิศทางแสงแดดตามที่กล่าวไปด้านบน นอกจากนี้ยังมีการปลูกต้นไม้บังการพ่นสารเคมีจากแปลงปลูกข้าง ๆ เพื่อบังการพ่นสารเคมี คำนวณต้นทุนทางการเกษตร และหาผู้รับจ้างขุดหนอง คลองไส้ไก่ และอื่น ๆ
ส่วนตัวมองว่าจะเป็นอาชีพที่น่าสนใจเป็นอาชีพที่ต้องการความรู้และความเข้าใจหลาย ๆ ด้านประกอบกัน เป็นอาชีพที่มั่นคงสามารถสร้างอาหารได้ด้วยตัวเองและมีรายได้ ถ้าให้มองแนวโน้มของอาชีพนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ตนคิดว่าเทรนยังไม่เปลี่ยนไปจากปัจจุบันมากนัก คนส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการทำงานประจำ/ทำธุรกิจเพื่อหารายได้มากกว่าที่จะมาทำการเกษตรในทันทีที่เรียนจบ เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทกับภาคการเกษตรมากขึ้น เทคนิคการทำการเกษตรแบบผสมผสานที่เน้นการทำเกษตรแบบยั่งยืนจะกลายเป็นที่นิยมของเกษตรกรรุ่นใหม่มากขึ้นเพราะเป็นแนวทางที่ง่ายใช้ต้นทุนต่ำ