ความจริงเกี่ยวกับตัวเลข

คุณรู้หรือไม่ว่า...

  • มีคนเข้าดู Youtube วันละ 30 ล้านคนต่อวัน ช่วงอายุของคนใช้งานอยู่ในช่วง 18-49 ปี
  • เกิด Transaction ของการใช้เงินผ่านบัตรเครดิต 1.01 ล้านใบ ต่อวัน
  • มีคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease: IHD) สูงที่สุดในโลกในปี 2563
  • รายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2563 ลดลง 43% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เป็นปีก่อนการระบาดของ COVID-19

การตั้งคำถามจากข้อมูล

ตัวเลขด้านบนทำให้เห็นว่าในทุกวินาทีทุกนาที ทุกชั่วโมง มีข้อมูลเกิดขึ้นทั่วโลกในจำนวนมหาศาล แล้วเราจะใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และการบริการที่เราทำอยู่อย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเพื่อเป็นแนวทางในการหาคำตอบนี้ Google Analytics Academy  ได้สอนเทคนิคการตั้งคำถามจากข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจว่าควรประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอน

ขั้นตอน 1: ตั้งคำถาม

ขั้นตอนนี้เป็นการตั้งคำถามเพื่อระบุปัญหาที่เราต้องการแก้ไขแต่ก่อนที่เราจะตั้งคำถามจำเป็นอย่างมากที่เราต้องทำความเข้าใจภาพรวมและรายละเอียดของสิ่งที่เราต้องการแก้ไขให้ถ่องแท้ว่าจุดที่จะต้องแก้อยู่ตรงไหนถัดไปถึงไปทำความเข้าใจความต้องการของคนใช้ผลลัพธ์จากข้อมูลที่เรากำลังจะวิเคราะห์แล้วไปนำเสนอให้เค้าตัดสินใจซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นไปได้ทั้ง ทีมผู้บริหาร กลุ่มลูกค้า หน่วยงานภาครัฐ

ขั้นตอน 2: เตรียมพร้อมก่อนเก็บข้อมูล

ขั้นตอนนี้เป็นวางแผนเพื่อเก็บข้อมูลและเตรียมที่จัดเก็บข้อมูลให้เหมาะกับประเภทข้อมูลที่ได้มาคำถามที่คนเก็บข้อมูลควรตั้งคำถามให้กับตัวเองในขั้นตอนนี้ คือเราต้องการข้อมูลอะไรบ้าง ใช้วิธีไหนในการเก็บข้อมูลแล้วจะเก็บข้อมูลไว้ที่ไหนที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้ง่าย

ขั้นตอน 3: จัดเตรียมข้อมูลและประมวลผลขั้นต้น

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการเอาข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากขั้นตอนก่อนหน้ามาประมวลผลขั้นต้นคำว่าประมวลผลขั้นต้นนี้หมายถึงการทำความสะอาดข้อมูล (Cleansing data) ตรวจสอบข้อมูลที่ผิดปกติ

ขั้นตอน 4: วิเคราะห์ข้อมูล

เมื่อมั่นใจแล้วว่าข้อมูลที่จะใช้มีความน่าเชื่อถือมากพอต่อการนำไปแก้ไขปัญหาขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ศาสตร์ทางคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้นำเสนอควรได้ผลการวิเคราะห์ที่เสนอทางเลือกให้ผู้ใช้ผลลัพธ์มากกว่าหนึ่งทางเลือกเพราะในชีวิตจริงลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายมีความต้องการและกำลังในการทำเพื่อให้บรรลุความต้องการที่ไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้วิเคราะห์ข้อมูลนำเสนอ 100%

ขั้นตอน 5: นำเสนอข้อมูล

เมื่อผ่านขั้นตอนการใช้ศาสตร์ทางคณิตศาสตร์มาแล้วขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการใช้ศิลปะในการถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อสื่อสารไปยังผู้ใช้ข้อมูลหัวใจสำคัญของขั้นตอนนี้ คือ การเล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายผ่านเครื่องมือการแสดงผลข้อมูลแบบอัตโนมัติที่ผู้ใช้ข้อมูลสามารถมี Interactive กับข้อมูลที่นำเสนอได้ (PowerBI, Tableau)

ขั้นตอน 6: ลงมือปฏิบัติ

ขั้นตอนนี้เรียกได้ว่าเป็น “Moment of truth” ของสิ่งที่ทำมาทั้งหมดและเป็นบทพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตั้งคำถามกันมาตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายเรามาถูกทางแล้วหรือไม่คนที่เล่นบทหลักในขั้นตอนนี้จะไม่ใช่คนที่เก็บข้อมูล เตรียมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล แต่จะเป็นฝั่งของผู้ใช้ข้อมูลที่จะต้องเลือกและตัดสินใจ

ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในธุรกิจต่าง ๆ

  • ธุรกิจเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ เก็บข้อมูลความพึงพอใจและพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าบนแพลตฟอร์มของบริษัทในช่วงเวลาที่สนใจ แล้วนําข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดใหญ่มีเครือข่ายตั้งอยู่ในหลายพื้นที่ต้องการให้ลูกค้าประทับใจในการบริการแล้วกลับมาพักที่โรงแรมอีก เลยสำรวจข้อมูลผู้เข้าพักดูว่าลูกค้าคนไหนซื้อแพคเก็จเสริมอะไรบ้างระหว่างเข้าพัก เช่น แพคเกจสปา แพคเกจดำน้ำดูปะการัง แพคเก็จตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พักราคาประหยัด แล้วเอาข้อมูลของลูกค้าคนนั้นมาจับคู่กับโปรโมชั่นพิเศษที่โรงแรมทำขึ้นในแต่ละช่วงแล้วส่งข้อมูลไปตามอีเมล ไลน์ หรือข้อความมือถือที่ลูกค้าคนนั้นใช้ตอนเช็คอิน
  • ธุรกิจอาหาร สำรวจความต้องการของลูกค้าและกลุ่มผู้ประกอบกิจการกลุ่มเดียวกันเพื่อต่อยอดในการคิดค้นเมนูใหม่ ตัวอย่างที่แสนจะคลาสสิคแต่เกิดขึ้นจริงในเคสนี้เห็นจะหนีไม่พ้น ร้านไอศครีมที่ต้องการไอเดียในการคิดค้นรสชาติใหม่ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาโจทย์ข้อนี้ เจ้าของร้านเลยลงมือวิเคราะห์ยอดขายภายใน 5 ปีที่ผ่านมาว่าไอศครีมรสไหนขายดีมากที่สุดและรสไหนขายได้น้อยที่สุดในแต่ละฤดู ผลปรากฎว่าร้านมียอดขายมากที่สุดในฤดูร้อนโดยที่ไอศรีมรสเชอร์เบทเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากที่สุด ในขณะเดียวกันที่ฤดูหนาวมียอดขายไอศรีมต่ำกว่าฤดูอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด และไอศครีมรสช็อกโกแลตได้รับความนิยมมากที่สุด เจ้าของร้านเลยคิดไอเดียในการสำรวจความต้องการของลูกค้าเพิ่มว่าถ้านึกถึงผลไม้ในแต่ละฤดูนึกถึงอะไร เสียงตอบรับจากผู้กรอกแบบสำรวจส่วนใหญ่ตอบว่าฤดูร้อนนึกถึงมะนาว แตงโม ฤดูหนาวนึกถึงกล้วย สตรอว์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ เพียงเท่านี้เจ้าของร้านก็ได้ไอเดียต่อยอดการทำไอศรีมรสใหม่ออกสู่ท้องตลาดได้แล้ว