Data Drive Decision-Making

“Every decision use data” ทุก ๆ การตัดสินใจใช้ข้อมูล ตัวอย่างการใช้ข้อมูลเพื่อช่วยตัดสินใจที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดและไม่ซับซ้อนเลยก็คือ การตัดสินใจสั่งอาหารจากเมนูของร้าน นึกภาพตามว่าคุณกำลังจะสั่งอาหารเที่ยงจากเมนูของร้าน คุณมีข้อจำกัดว่ามื้อนี้จะสั่งเมนูราคาไม่เกิน 100 บาท เพราะอยากเก็บเงินไว้ไปซื้อชานมไข่มุกต่อคุณก็เลยเลือกสั่งเฉพาะเมนูที่อยากกินแล้วราคาไม่เกิน 100 บาท จากเมนูอาหารของร้านเท่านั้น

ถัดไปเป็นเหตุการณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น คุณจะต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้วต้องการที่พักระยะยาวอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานในราคาที่จ่ายแล้วมีเงินเหลือเก็บ สิ่งที่คุณทำคือเข้า Website ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ในย่านที่คุณจะไปอยู่แล้วกรองหา Apartment ตามเงื่อนไขที่คุณต้องการไม่ว่าจะเป็นห้องนอนเดี่ยว มีห้องน้ำในตัว ไม่ไกลจากที่ทำงานมาก สามารถเดินทางไปทำงานด้วยรถสาธารณะได้ ละแวกนั้นมีร้านอาหารตั้งอยู่ ค่าเช่าต่อเดือนอยู่ในช่วงที่จ่ายไหว หลังจากได้รายชื่อที่พักมาแล้วคุณก็เลือกมา 4 แห่งตามความถูกใจแล้วก็ติดต่อไปแต่ละที่เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้วเอามาเทียบกันว่าที่ไหนดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขของคุณ สังเกตได้ว่ากว่าจะถึงขั้นตอนที่ต้องตัดสินใจล้วนแล้วแต่มีข้อมูลเป็น Input ทั้งนั้น

ขอยกอีกหนึ่งตัวอย่างในการใช้ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วมาช่วยตัดสินใจในการทำธุรกิจ บริษัทของคุณมีแผนที่จะขายโปรแกรมเสริมที่ช่วยแก้คำผิดให้โดยอัตโนมัติหากพบว่าคนใช้งานพิมพ์ผิดซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันกับที่บริษัทคู่แข่งพัฒนาออกมาขายเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ความแตกต่างอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ของคุณเป็นสิ่งที่แก้ไขข้อด้อยของบริษัทคู่แข่งแทบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นแก้ไขคำผิดได้หลายภาษา ไม่อนุญาตให้บันทึกจนกว่าผู้ใช้งานจะกดยืนยันว่าได้ตรวจสอบจุดที่พิมพ์ผิดแล้ว แต่ด้วยความที่ผลิตภัณฑ์ของคุณมีคุณสมบัติดีกว่าจึงส่งผลให้มีราคาที่สูงกว่าของบริษัทคู่แข่ง ซึ่งนี่อาจจะกลายมาเป็นจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ของคุณได้

เพื่อแก้ไขปัญหานี้เจ้านายของคุณเลยบอกว่าทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้ารู้สึกว่าราคาของผลิตภัณฑ์ที่จะขายนั้นลูกค้าจ่ายในราคาที่ถูกกว่าของคู่แข่งแล้วได้ใช้งานเลย ในขณะเดียวกันที่ราคาต้นทุนเท่าเดิม แน่นอนว่า Point ของปัญหานี้คือเทคนิคการตั้งราคาขาย สิ่งแรกที่คุณทำก็คือเอาข้อมูลการคำนวณราคาผลิตภัณฑ์มาดูเพื่อให้รู้รายละเอียดราคาของสินค้าจากนั้นเอามาวิเคราะห์ต่อแล้วเสนอวิธีแก้ปัญหาเป็น 2 แบบ แบบที่ 1 เสนอราคารายเดือนให้ลูกค้า ในแบบแรกคุณก็ต้องมานั่งวิเคราะห์ต่อว่าเมื่อขายได้ตามเป้าที่กำหนดหักรายจ่ายค่าทำธุรกรรมรายเดือนในการขายสินค้านี้แล้วบริษัทจะได้ยอดขายสุทธิเท่าไหร่แล้วสามารถทำกำไรได้กี่บาท ส่วนแบบที่ 2 เสนอราคารายเดือนให้ลูกค้าแต่ส่งบิลเรียกเก็บเงินเป็นรายปี ในแบบที่สองนี้คุณจะให้ของแถมเป็นคูปองส่วนลดในครั้งถัดไปให้กับลูกค้าที่ทำจ่ายภายใน 7 วันด้วย จะเห็นว่าไม่ว่าจะตัดสินใจเลือกแบบที่ 1 หรือแบบที่ 2 คุณก็ต้องการข้อมูลมา Support การตัดสินใจทั้งสิ้น

High-quality output requires a good process - Harvard Business Essential

The Decision Process

จากที่เล่า บลา บลา บลา ไปข้างบนหลายคนคงคิดว่าการ Making decision เป็นอะไรที่ Abstract รึเปล่านะ หรือมีขั้นตอนของมันอยู่แค่ต่างกันไปตามสถานการณ์ อันที่จริงแล้วการ Making decision นั้นมีหลักการอยู่ซึ่งถูกนิยามขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ในทางหลักการแล้วขั้นตอนการตัดสินใจถือเป็นส่วนหนึ่งของการคิดเชิงระบบและมีด้วยกันทั้งหมด 5 ขั้นตอนทำงานต่อเนื่องกัน

ขั้นตอนแรกเริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ของการตัดสินใจให้ได้ก่อนว่าผลจากการตัดสินใจนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือพัฒนาอะไรต่อบ้าง

ขั้นตอนที่สองเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่มีผลต่อการตัดสินใจ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สามารถมองข้ามไปได้ในกรณีที่พบว่าทางเลือกในการตัดสินใจแก้ปัญหาเป็นอะไรที่ตายตัวไม่ทางเลือกใดก็ทางเลือกหนึ่ง ไม่ต้องการปัจจัยประกอบการตัดสินใจมากมายหรือผลสุดท้ายอย่างไรแล้วผู้บริหารระดับสูงก็เป็นคนเดียวที่ตัดสินใจตามความต้องการอยู่ดีไม่ว่าจะมีข้อมูลรองรับมากแค่ไหน

ขั้นตอนที่สามทำความเข้าใจสถานการณ์ของเรื่องที่กำลังจะตัดสินใจให้มากที่สุด โดยอาจจะเตรียมความพร้อมจากการจัดทำข้อมูลมาสนับสนุนการตัดสินใจแล้ววิเคราะห์ข้อมูลให้ตรงประเด็นที่ต้องการ

ขั้นตอนที่สี่คิดทางเลือกสำหรับตัดสินใจให้มากกว่า 1 ทางเลือก

ขั้นตอนที่ห้าประเมินข้อดี-ข้อเสีย และความเสี่ยงของทางเลือกนั้น ๆ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ตาม นอกจากการทำตามขั้นตอนการตัดสินใจแล้วยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงกับการตัดสินใจซึ่งก็คือประสบการณ์ส่วนบุคคลของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ที่มีต่อบริบทของเรื่องราวที่กำลังจะตัดสินใจนั้น ๆ ด้วย