Servant Leadership: ตกลงจะเป็นผู้นำหรือผู้รับใช้กันแน่?

คำว่า "ผู้รับใช้ (Servant)" กับ "ผู้นำ (Leader)" ฟังดูแล้วดูเหมิอนเป็นคนละเรื่องกันเลย แต่แนวความคิดของ Servant Leadership บอกว่าทั้งสองสิ่งนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้

คำว่า Servant Leadership เริ่มถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยคุณ Robert Greenleaf นักวิจัยผู้ซึ่งไม่ค่อยเชื่อมั่นในแนวทางการเป็นผู้นำแบบคลาสสิกดั้งเดิมที่ยึดอำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและลูกทีม คุณ Robert จึงเริ่มมองหาแนวทางใหม่ในการเป็นผู้นำ และสุดท้ายแนวคิดของ Servant Leadership ก็เกิดขึ้นา

Servant Leadership เป็นรูปแบบหนึ่งของการเป็นผู้นำที่มุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจความต้องการของทีมงาน คอยช่วยเหลือสนับสนุนและพัฒนาทีมงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะนำไปสู่ขีดความสามารถของทีมงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำมาซึ่งผลสำเร็จของโครงการในที่สุด

ผู้นำที่เล่นบทบาทนี้เราเรียกว่า Servant Leader ซึ่ง Servant Leader จะเริ่มต้นจากการทำตัวเป็น Servant (ผู้รับใช้) ก่อนที่จะเล่นบทบาทของ Leader (การนำ) โดยจะทุ่มความพยายามของตนเองไปช่วยเหลือสนับสนุนทีมงานให้ทำหน้าที่ของตนเองได้ดีที่สุด คนที่เป็น Servant Leader จะคอยตั้งคำถามประมาณนี้กับตนเอง

  • ทีมงานของเราแต่ละคนกำลังเติบโตขึ้นไหม?
  • ทีมงานของเราแต่ละคนมีอิสระ มีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นไหม?
  • สุขภาพกายและใจของทีมงานเราเป็นยังไงบ้าง?
  • ทีมงานแต่ละคนมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็น Servant Leader ในอนาคตรึเปล่า?

จะเห็นว่า Servant Leader จะมองไปที่ทีมงานของตัวเองเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Servant Leader จะไม่สนใจผลลัพธ์ของโครงการนะ  เพียงแค่ว่า Servant Leader จะมองผลลัพธ์ของโครงการผ่านทีมงานที่มีความสุขเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นโครงการใด ๆ ก็ตามผลลัพธ์จะถูกสร้างขึ้นจากการทำงานของทีมงานโครงการ ส่วนมากแล้วทีมงานโครงการจะเข้าใจและรู้ดีที่สุดในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำเพื่อสร้างผลลัพธ์นั้นให้เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้น Project Manager ที่ไม่ได้รู้เท่าทีมงานไม่ควรเล่นบทบาทการสั่งเพียงอย่างเดียว แต่ควรทุ่มเทเวลาไปกับการสนับสนุนทีมงานของตนเอง ถ้าทีมงาน Happy และได้รับการสนับสนุนที่เพียบพร้อม เขาก็จะสร้างผลลัพธ์นั้นได้อย่างเยี่ยมยอดนั่นเอง เพราะฉะนั้น Servant Leader จึงมุ่งที่จะรับใช้ทีมงานของตนเองเพื่อให้ทีมงานโฟกัสทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดีที่สุด

การเป็นผู้นำแบบนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการนำแบบออกคำสั่ง (Command and Control) Servant Leader จะไม่ทึกทักไปเองว่าตนเองรู้ดีกว่าทีมงานจนต้องมาออกคำสั่งให้ทำโน่นนี่นั่น แต่จะให้คนที่รู้ดีที่สุดในเรื่องนั้นเป็นคนตัดสินใจ ดังนั้นจึงมีการมอบหมายอำนาจการตัดสินใจให้กับทีมงานมากขึ้น ส่วน Project Manager ก็จะถอยออกมาสนับสนุนแล้วปล่อยให้เขาทำงานของเขาไป ทีมงานจะมีอิสระมากขึ้นในการทำงานของตนเอง  แต่ยังไงก็ตาม Servant Leader ก็ยังมีความรับผิดชอบในการดูภาพรวมของโครงการอยู่นะ

แม้คำว่า Servant Leader จะมีมาแล้วเกือบ 50 ปี แต่มันก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการที่มีการบริหารจัดการแบบ Adaptive Approach หรือ Agile ในหนังสือ Agile Practice Guide ได้มีการกล่าวว่า สำหรับโครงการที่มีความซับซ้อนมากเกินกว่าที่คน ๆ เดียวจะรู้ทุกเรื่องและบริหารจัดการทุกอย่างได้ด้วยตนเอง ผู้จัดการโครงการ (Project Manager) ควรจะต้องเล่นบทบาทเป็น Servant Leader

บทบาทหลัก ๆ ของ Servant Leader

บทบาทของ Servant Leader ประกอบด้วย

การเคลียร์ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ

การทำโครงการไม่ได้ราบรื่นตลอดเวลา ในแต่ละวันทีมงานจะเจอปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เข้ามาขัดขวาง ทำให้ทีมงานไม่สามารถทำงานเพื่อสร้างและส่งมอบคุณค่าได้อย่างเต็มขีดความสามารถ Servant Leader จะคอยช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่ดูแล้วอาจจะเกินมือที่ทีมงานโครงการสามารถแก้ด้วยตนเองได้

ตอนที่ทีมงานสอนอยากทำสื่อการสอนแบบใหม่แต่ไม่มีเงิน หรือตอนที่ทีมเสบียงสับสนในข้อมูลรายชื่อคนขึ้นค่าย แต่ไม่สามารถไปขอให้ทีมอื่น ๆ เคลียร์รายชื่อให้ได้อย่างราบรื่น นี่คือตัวอย่างของปัญหาที่อาจจะเกินมือคนที่ทำงานอยู่ ซึ่งเนบิวล่าก็ใช้บทบาทของตัวเองในฐานะ Project Manager ไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งไปหางบมาให้ (แม้จะไม่ได้ครบก็ตาม) หรือไปช่วยจัดระบบงานลงทะเบียนคนเดินทางไปค่ายให้ ซึ่งด้วยบทบาทความเป็นผู้นำของเนบิวล่าทำให้ได้รับความร่วมมือง่ายกว่า นี่คือบทบาทการเข้าไปเคลียร์ปัญหาอุปสรรคให้กับทีมงาน

การป้องกันงานจับฉ่ายที่เข้ามาขโมยเวลาของทีมงาน

เรามักจะไม่ได้ทำงานอะไรอยู่เพียงอย่างเดียว เราจะเจอกับสถานการณ์ที่ต้องรับผิดชอบงานหลาย ๆ อย่างอยู่ในมือพร้อมกันเสมอ บางทีเราก็จะมีงานแถมเข้ามาแบบที่ไม่คาดคิด สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไขว้เขวและทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ Servant Leader จะคอยป้องกันไม่ให้งานพวกนี้เข้ามาหาทีมงานจนไขว้เขวจนเสียสมาธิหรือหลุดโฟกัส ต่อให้มันเป็นงานที่เล็กน้อยก็ตาม แต่ถ้ามันเข้ามาแทรกระหว่างกลางทำให้เราต้องหยุดสิ่งที่เราทำอยู่ แล้วกลับมาทำภายหลัง เรียกว่า Time Fragmentation ก็ทำให้ประสิทธิผลในการทำงานลดลง

ในโลกความเป็นจริง ผู้จัดการโครงการคงไม่สามารถทำให้ทีมงานของเราทำงานเฉพาะในโครงการของเราได้เสมอไป แต่เราก็อาจพอช่วยได้ในเรื่องการจัดคิวเวลาที่ชัดเจน แบ่งให้ชัดไปเลย เพื่อให้เขาได้มีเวลายาว ๆ ช่วงหนึ่งสำหรับการโฟกัสกับงานของเรา ส่วนช่วงอื่นก็ให้เขาไปทำงานอื่นของตัวเองไป ช่วยสร้างสภาพการทำงานที่ไม่เปลี่ยนงานไป ๆ มา ๆ ตลอดเวลา

งานหางบประมาณในค่ายของเนบิวล่านั้นล่าช้ากว่าที่วางแผนไว้จนน่ากังวลว่าจะมีเงินไม่พอไปจัดค่าย เมื่อลงมาดูปัญหาจริง ๆ ก็พบว่าโมน่า (Mona) ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ไปหาเงินมาทำค่ายไม่เคยได้มีจังหวะในการทำงานส่วนนี้แบบต่อเนื่องเลย ด้วยความที่เป็นคนที่มีความรู้เรื่องการจัดซื้อ เลยโดนทีมงานอื่นมาใช้งานเสมอ เช่น ช่วยไปหาราคาอุปกรณ์ให้หน่อย ให้ไปช่วยเจรจาราคาการซื้อของแต่ละอย่างให้หน่อย เนบิวล่าเลยเข้าไปช่วยโดยการแจ้งบทบาทของโมน่าในโครงการนี้ให้ทุกคนทราบอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าโมน่าจะเชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อแต่หน้าที่หลัก ๆ ของเขาคือการหาเงินมาทำค่าย เพราะฉะนั้นทีมงานไม่ควรมารบกวนโมน่าเรื่องนี้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือดีระดับนึง แต่ก็มีทีมเสบียงที่ยังโอดครวญต้องการความช่วยเหลือจากโมน่าอยู่เพราะไม่มีใครทำงานนี้ได้ดีกว่าเธอแล้ว เนบิวล่าเลยจัดตารางให้ชัดเจนว่าใน 1 สัปดาห์ ให้วันศุกร์ช่วงบ่ายโมน่าสามารถช่วยเหลือทีมเสบียงได้ แต่วันอื่น ๆ ให้โมน่าไปทำเรื่องการหาเงินมาทำค่ายอย่างเต็มที่

การส่งเสริมและพัฒนาทีมงาน

จัดหาเครื่องมือ ทรัพยากรที่จำเป็นให้แก่ทีมงาน เพื่อให้ทีมงานทำงานของตนเองได้โดยสะดวกที่สุด พยายามทำความรู้จักทีมงานแต่ละคนในฐานะปัจเจกบุคคล แสดงให้เห็นถึงการรับรู้สิ่งที่แต่ละคนทำ

การจัดค่ายสอนหนังสือนี้ทำให้เนบิวล่างานเต็มมืออยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เนบิวล่าจะคอยหาจังหวะในการมานั่งคุยสัพเพเหระทำความรู้จักกับทีมงานของตนเองแบบกันเองบ้างเป็นครั้งคราว กับโมน่าเองก็เช่นกัน หลังจากที่ได้มีโอกาสนั่งกินกาแฟด้วยกัน 2-3 ครั้งเนบิวล่าก็ได้รู้จักกับโมน่ามากขึ้นด้วยความที่โมน่าเป็นคนช่างพูด ก็เลยชอบออกไปเจอผู้คนตามที่ต่าง ๆ แต่มน่าเป็นพวกเกรงใจคนไม่ค่อยกล้าปฏิเสธคนอื่น ทำให้เลยต้องรับงานอะไรมาเต็มไปหมด ดู ๆ ไปก็คล้าย ๆ กับที่เนบิวล่าเคยเป็นเหมือนกันตอนเพิ่งเริ่มเข้ามาทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ตอนที่นั่งคุยกันเนบิวล่าเลยถือโอกาสแชร์ประสบการณ์ในเรื่องนี้ของตัวเองให้ฟัง พร้อมแบ่งหนังสือเรื่องการบริหารเวลาให้โมน่าลองไปอ่านดูด้วย นอกจากนี้ เนบิวล่ารู้ว่ามาร์คุส (Markus) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมดูแลเรื่องการขนส่งเป็นคนที่สนใจเรื่องโลจิสติกอยู่แล้วเลย อยากทำงานในด้านนี้หลังเรียนจบ เนบิวล่าเลยชวนมาร์คุสไปเข้าคลาสสัมมนาด้านการวางแผนการขนส่งให้รู้หลักการด้านนี้ไปเลย ส่วนหนึ่งมาร์คุสก็สามารถเอามาใช้ในการวางแผนการเดินทางในการจัดค่ายครั้งนี้ได้ด้วย


Servant Leadership ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

Servant Leadership ฟังดูเหมือนเป็นการเป็นผู้นำในอุดมคติ แต่มันอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกบริบทเสมอไป ในบางสถานการณ์เรายังคงต้องการผู้นำแบบออกคำสั่งอยู่ เช่น โครงการให้ความช่วยเหลือด้านภัยพิบัตที่ต้องการการจัดการที่รวดเร็ว ฉับไว หรือในสถานการณ์ที่ผู้นำมีความรู้มากกว่าผู้ลงมือทำและเข้าใจสิ่งที่ต้องทำได้อย่างชัดเจน

Servant Leadership จะเหมาะกับโครงการที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม อาจจะมีความเร่งด่วนได้บ้างในเรื่องกรอบเวลาแต่ต้องไม่ถึงขั้นวิกฤต เช่น การออกแบบสื่อการสอน การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นต้น